ซีพี แอ็กซ์ตร้า จับมือ NIA ลงนามบันทึกความเข้าใจ เร่งยกระดับศักยภาพด้านนวัตกรรมของบุคลากร เพื่อสร้างการเติบโตขององค์กรอย่างยั่งยืน

06 สิงหาคม 2567

กรุงเทพฯ - 6 สิงหาคม 2567 - บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจค้าส่งค้าปลีก “แม็คโคร” ร่วมกับ “โลตัส”กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ผนึกกำลังผลักดันการยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรม พร้อมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อออกแบบและพัฒนาหลักสูตรนวัตกรรมให้กับบุคลากรของ ซีพี แอ็กซ์ตร้า ตลอดจนให้คำปรึกษาและสนับสนุนด้านผู้เชี่ยวชาญ วิทยากร เพื่อให้แนวทางและคำแนะนำในการพัฒนานวัตกรรมของ ซีพี แอ็กซ์ตร้า ให้มีศักยภาพการแข่งขัน รวมถึงการเชื่อมโยงสตาร์ทอัพหรือบริษัทเทคโนโลยีที่มีศักยภาพและความคล่องตัวสูงให้เกิดเป็นการสร้างเครือข่ายสำหรับแลกเปลี่ยน เผยแพร่ และแบ่งปันองค์ความรู้ระหว่างกัน เพื่อนำไปพัฒนานวัตกรรมและต่อยอดธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน

นายฌอน หวอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร - ธุรกิจค้าส่งแม็คโคร สายงานบริหารการเปลี่ยนแปลงและสำนักงานประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ในยุคที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้องค์กรทั่วโลกต้องปรับตัวและนำนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาปรับใช้ในการบริหารและขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่ง ซีพี แอ็กซ์ตร้า ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ จึงมุ่งนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพการทำงานในทุกส่วนขององค์กร ควบคู่กับการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

บริษัทฯ จึงเดินหน้าพัฒนาและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ด้วยการใช้ ‘นวัตกรรมที่ยั่งยืน’ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในสินค้า บริการ และกระบวนการดำเนินธุรกิจ ผ่านการประยุกต์ใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อสร้างผลกระทบที่ดีในระยะยาวต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับภารกิจการขับเคลื่อนธุรกิจตามยุทธศาสตร์ความยั่งยืนปี 2573 ขององค์กร โดยการผนึกกำลังร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ในครั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามรถของพนักงาน ควบคู่กับการต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ (Value Added) ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอนาคต”

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า “บทบาทสำคัญของ NIA คือการส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมออกสู่เชิงพาณิชย์ ด้วยการนำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้ร่วมกับเครือข่ายจนก่อให้เกิดระบบนิเวศนวัตกรรม การพัฒนาบุคลากรขององค์กรให้มีฐานความคิดด้านนวัตกรรม ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะขององค์กร พร้อมช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก และทำให้องค์กรสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมที่โดดเด่นออกมาได้ จึงเกิดเป็นความร่วมมือกับ บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) ในการออกแบบและพัฒนาหลักสูตรนวัตกรรมให้แก่บุคลากรของซีพี แอ็กซ์ตร้า ให้มีทักษะ และความคิดเชิงนวัตกรรม ไปจนถึงการทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อต่อยอดไอเดียทางด้านนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ได้จริง เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ สร้างความแตกต่าง สร้างประสบการณ์ใหม่ให้แก่ลูกค้า พร้อมรองรับความท้าทายที่จะเกิดขึ้น และตอบโจทย์ลูกค้าได้ทันท่วงทีต่อกระแสปัจจุบัน”

“การผสานความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นกลไกสำคัญที่มีส่วนช่วยให้เกิดการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หรือต่อยอดกระบวนการนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อผู้คนและขยายผลสู่เศรษฐกิจและสังคมไทย รวมทั้งเป็นการพัฒนากำลังคนของประเทศให้มีความรู้ความสามารถทางด้านนวัตกรรม ซึ่งส่งผลให้ผลผลิตด้านนวัตกรรมของประเทศเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการให้คำปรึกษาในการพัฒนาองค์กร และเป็นผู้ประสานเชื่อมต่อทั้งด้านนโยบายและวิธีการดําเนินงาน อันจะก่อให้เกิดระบบนวัตกรรมและวัฒนธรรมองค์กรที่ดีขึ้น ทั้งนี้ NIA หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือนี้ จะช่วยทำให้บุคลากรของ บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า สามารถยกระดับขีดความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมควบคู่ไปกับการพัฒนาองค์กรและสังคมได้อย่างยั่งยืนต่อไป”

ทั้งนี้ งานลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ ได้มีการจัดแสดงสินค้านวัตกรรมของ ซีพี แอ็กซ์ตร้า ที่แสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์และการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ ได้แก่

  • เบอร์เกอร์เนื้อบดจากพืช ขนมปังผลิตจากเนื้อมันฝรั่งสด และใช้เนื้อบดคุณภาพนำเข้า ไม่ใช้สารเคมีในอาหาร ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
  • น้ำดื่มไร้ฉลากพลาสติก ชูแนวความคิดการรักษ์โลก ทำจากขวดพลาสติก PET ฉลากอลูมิเนียม ใช้เทคโนโลยีเลเซอร์แทนการใช้หมึก สามารถนำไปรีไซเคิลได้ 100% ลดการใช้พลาสติกใหม่ราว 11.6 ตันต่อปี
  • เสื้อยูนิฟอร์มพนักงานจากการรีไซเคิลขวด PET โดยในปี 2565 บริษัทฯ สามารถรวบรวมขวดน้ำพลาสติก ได้มากถึง 2.4 ล้านขวด เพื่อนำไปผลิตเสื้อยูนิฟอร์มพนักงานได้ถึง 120,000 ตัว เทียบเท่ากับการลดปริมาณปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวน 73.92 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า*
  • ถุงขยะรีไซเคิล ผลิตจากเมล็ดพลาสติกรีไซเคิล ลดปริมาณการใช้พลาสติกใหม่ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 652,943 Kg CO2e และปริมาณขยะฝังกลบ 35.72 ตัน**
  • ข้าวหอมมะลิใหม่ต้นฤดู ที่ใช้เทคโนโลยีการเก็บรักษาในอุณหภูมิต่ำ และบรรจุภัณฑ์เมทัลไลซ์ ในการเก็บรักษาข้าว ให้มีความหอมนาน เหนียวนุ่ม และเมล็ดข้าวมีความเงา ขาวใสสดใหม่ตลอดปี

หมายเหตุ: *ขวด PET ขนาด 600 มิลลิลิตร 20 ขวด สามารถแปรรูปเป็นเสื้อพนักงานได้ 1 ตัว
**คำนวณจากยอดขาย ก.พ. 2563 - ธ.ค. 2564